วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทำบุญตักบาตร


นายอรชุน ธิวรรณลักษณ์ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา นำคณะข้าราชการสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำบุญตักบาตรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ บริเวณสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ 5 ธันวาคม 2554

อนาคตกองทุนหมู่บ้านฯ

นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง “อนาคตกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” ตามโครงการสัมมนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ครบรอบ 10 ปี แก่คณะกรรมการและสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 1,826 คน ณ ศาลาจัตุรมุข หน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนายอรชุน ธิวรรณลักษณ์ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัด และนายวิจิตร สีเจริญ ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้การต้อนรับ เมื่อ 23 ธันวาคม 2554

กองทุนหมู่บ้านฯ ครบรอบ 10 ปี

นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานเปิดงานมหกรรมกองทุนหมู่บ้านฯ ครบรอบ 10 ปี ณ บริเวณสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา มีนายสมชัย อัศวชัยโสภณ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 2 ,นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และนายอิทธิ ศิริลัทธยากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นเกียรติ โดยมีนายอรชุน ธิวรรณลักษณ์ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัด และนายวิจิตร สีเจริญ ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้การต้อนรับ เมื่อ 23 ธันวาคม 2554

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชุม OTOP

นายอรชุน ธิวรรณลักษณ์ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเครือข่าย OTOP ,ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP ฉะเชิงเทรา ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เมื่อ 19 ธันวาคม 2554 เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของจังหวัดฉะเชิงเทราในปีงบประมาณที่ผ่านมา และเตรียมผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP เข้าร่วมการจัดงาน OTOP ทั่วไทยรวมใจช่วยภัยน้ำท่วม ระหว่างวันที่ 24-30 ธันวาคม 2554 ณ เอ็กซิบิชั่นฮอลล์ 1-4 ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรี

เลือกตั้งคณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ฯ จังหวัด

นายอรชุน ธิวรรณลักษณ์ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานประชุมเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เมื่อ 19 ธันวาคม 2554 โดยการประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญ ได้แก่ การเลือกตั้งคณะกรรมการเครือข่ายชุดใหม่ ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ นายชุมพล สัมฤทธิ์ ประธานเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอำเภอบางคล้า

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เยี่ยมพัฒนาชุมชน

นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา สอบถามข้อมูล OTOP ในระหว่างการตรวจเยี่ยมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เนื่องในโอกาสย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นวันแรก โดยมีนายอรชุน ธิวรรณลักษณ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัด และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด ให้การต้อนรับ เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2554

จังหวัดเคลื่อนที่ (อำเภอสนามชัยเขต)

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับเครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และเครือข่าย OTOP แปดริ้ว ร่วมให้บริการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมพัฒนาชุมชน และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ตามโครงการ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน” (โครงการจังหวัดเคลื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา) ณ โรงเรียนชำป่างามวิทยาคม หมู่ที่ 8 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต โดยมีนายอรชุน ธิวรรณลักษณ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัด นำทีมให้บริการ เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2554

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รองผู้ว่าฯ เยี่ยม OTOP

นางสุมิตรา ศรีสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประกอบการ OTOP ในงานนมัสการพระพุทธโสธรและงานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทรา ปีที่ 120 (7-16 พฤศจิกายน 2554) ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทราให้การต้อนรับ เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2554 สรุปยอดจำหน่ายทั้งสิ้น 719,611 บาท

ผู้ว่าแปดริ้วเยี่ยม OTOP

นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประกอบการ OTOP ในงานนมัสการพระพุทธโสธรและงานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทรา ปีที่ 120 (7-16 พฤศจิกายน 2554) ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทราให้การต้อนรับ เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2554 สรุปยอดจำหน่ายทั้งสิ้น 719,611 บาท

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รับรางวัล

นายสุรชัย ขันอาสา อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบรางวัลชมเชยจังหวัดที่มีผลงานด้านการจัดการความรู้ดีเด่น ประจำปี 2554 ให้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา และรางวัลชมเชยการแต่งคำขวัญส่งเสริมจริยธรรมข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ให้แก่ นางสาวสุรีวรรณ คณนา นักวิชาการพัฒนาชุมชน จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี กรุงเทพมหานคร เมื่อ 1 ตุลาคม 2554

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตัวอย่างจังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จังหวัดฉะเชิงเทราโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ได้ดำเนินการคัดเลือกศูนย์เรียนรู้ชุมชนตัวอย่างของจังหวัดขึ้น จำนวน 1 แห่ง เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษา เรียนรู้ และดูงานเกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตัวอย่างฯ ดังกล่าว ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านอ่างเตย หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 เป็นการต่อยอดมาจากศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ซึ่งเกิดจากความต้องการของประชาชนในชุมชนที่ต้องการให้มีเวทีประชุมประชาคมของหมู่บ้าน เผยแพร่แนวคิด มีแหล่งเรียนรู้ของชุมชน มีการจัดเก็บองค์ความรู้ ประวัติชุมชน และภูมิปัญญาของชุมชนอย่างเป็นระบบ มีการแสดงข้อมูลข่าวสารของชุมชนให้ได้เรียนรู้กันอย่างทั่วถึง รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนแห่งนี้ มีนายสำรวย ทรัพย์ประสาน สมาชิกสภาจังหวัดฉะเชิงเทรา อดีตผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้บริจาคที่ดิน จำนวน 30 ไร่ เพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ต่อมามีหน่วยงานราชการสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ให้หลากหลายขึ้น จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ตัวอย่างของจังหวัดในปัจจุบัน

สำหรับกิจกรรมของศูนย์ฯ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนตามฐานเรียนรู้ภายในศูนย์ฯ เช่น ฐานปุ๋ยหมักชีวภาพ ฐานปลูกไผ่ตง ฐานปลูกหม่อน ฐานเลี้ยงไหม ฐานทอผ้าไหม ฐานทำนา 1 ไร่ 100 ถัง ฐานปลูกกล้วย 1 หน่อ ได้ 2 ต้น ฐานเลี้ยงสุกร ฐานผลิตแก๊สชีวภาพ ฐานเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น และการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เช่น แปลงเกษตรผสมผสาน แปลงปลูกผัก แปลงไผ่ตงของปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น ผู้สนใจติดต่อขอศึกษาดูงานหรือขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นายไพรวัลย์ คำประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หรือที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239

หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” จังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้จังหวัดฉะเชิงเทราคัดเลือกหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ประจำปี 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้นำชุมชนที่มีผลงานดีเด่น และเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจังหวัดได้ดำเนินการคัดเลือกและประกาศผลให้ บ้านสระไม้แดง หมู่ที่ 5 ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ประจำปี 2554 ของจังหวัด โดยจะเข้ารับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสต่อไป

บ้านสระไม้แดง มีผู้ใหญ่บ้านชื่อนายเชษฐา ภูสมที ครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริง 206 ครัวเรือน ประชากร 824 คน เป็นชาย 432 คน หญิง 392 คน อาชีพหลักคือทำนา ทำไร่ ทำสวน อาชีพรองคือรับจ้าง อาชีพเสริมคือเพาะเห็ดฟางและปลูกพืชผัก แต่ก่อนหลังจากทำนา ชาวบ้านต้องไปรับจ้างนอกหมู่บ้านได้ค่าแรงวันละ 2030 บาท คนส่วนใหญ่จึงมีฐานะยากจน แต่ปัจจุบันนี้มีรายได้ดีขึ้นมากจากการทำอาชีพเสริมเพาะเห็ดฟาง ทุกครอบครัวมีรายได้ทุกวัน ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท รวมทั้งคนชราและเด็กที่รับจ้างตัดโคนเห็ดได้กิโลกรัมละ 3 บาท

การทำการเกษตรที่บ้าน ทำให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้ามีความอบอุ่น มีเวลาให้ความร่วมมือกับชุมชน การดำเนินชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคนในชุมชนให้ความสำคัญมากกับโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน มีการคัดเลือกครอบครัวพัฒนาต้นแบบ 30 ครัวเรือน เพื่อเป็นแกนนำวิถีชีวิตแบบพอเพียง ต่อมามีการขยายผลเกือบครบทุกครัวเรือน กิจกรรมที่ทำ เช่น การทำสวนครัว รั้วกินได้ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับในบริเวณบ้านและรั้วบ้าน มีการทำความสะอาดและจัดบริเวณบ้านให้น่าอยู่ น่ามอง ทำป้ายชื่อบ้านที่ดูดีและสวยงาม มีการออมเงินกับกลุ่มออมทรัพย์ฯ ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน มีการอนุรักษ์ป่าชุมชน 2 แห่ง คือ ป่าอนุรักษ์ และป่าเศรษฐกิจชุมชน ป่าอนุรักษ์ ชุมชนได้ดำเนินการจัดทำแนวเขต แนวกันไฟ มีการจัดเวรยามป้องกันไฟป่า รักษาป่าให้คงเดิมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีการปลูกต้นไม้ในชุมชน ให้เกิดความร่มรื่น สร้างจิตสำนึกในการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน สำหรับป่าเศรษฐกิจ ชุมชนได้เน้นการปลูกไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส เพื่อตัดขายแล้วนำรายได้มาพัฒนาหมู่บ้าน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน

ด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน มีจุดเรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสาน และจุดเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ยาสมุนไพร การทำบายศรี การจักสาน การทอผ้าพื้นบ้าน ด้านความเอื้ออาทรต่อกัน ชุมชนมีความสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนเป็นญาติพี่น้อง แม้จะนับถือศาสนาที่ต่างกัน โดยมีวัดบ้านสระไม้แดง และวัดคาทอริกเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนา ซึ่งกิจกรรมต่างๆ จะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของบ้านสระไม้แดง คือ มีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม อันเกิดจากผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ มีความเสมอภาค เป็นแบบอย่างที่ดี เชื่อถือ และไว้วางใจได้ นอกจากนี้สมาชิกในชุมชนยังมีความร่วมมือ ร่วมใจ มีความสามัคคี ต้องการเห็นชุมชนน่าอยู่ คนในชุมชนมีอาชีพมีรายได้สม่ำเสมอ สังคมเป็นสุข เอื้ออาทรต่อกัน สิ่งแวดล้อมดี มีความปลอดภัย ต้องการพึ่งพาตนเองให้มาก พึ่งพาภายนอกให้น้อยลง กิจกรรมทุกเรื่องต้องมีการทำประชาคม รับฟังปัญหา ความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และบรรจุไว้ในแผนชุมชน โดยยึดแนวทางสายกลางแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นหลัก... ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239 หรือ ผู้ใหญ่เชษฐา ภูสมที โทร.087-0664652

แปดริ้วจัดพิธีมอบเงินพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดฉะเชิงเทรา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อรับพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ณ ศาลาดุสิตาลัย พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

จังหวัดฉะเชิงเทรา
ได้รับพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ดังนี้
1. ศูนย์เรียนรู้ชุมชนดีเด่น จำนวน 1 แห่ง เป็นเงิน 60,000 บาท

2. สนับสนุนกองทุนแม่ของแผ่นดินเดิมที่เคยรับกองทุนแม่ของแผ่นดินมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2547-2552 จำนวน 132 กองทุน เป็นเงิน 2,640,000 บาท

3.สนับสนุนกองทุนแม่ของแผ่นดินใหม่ (ปี 2553) จำนวน 21 กองทุน เป็นเงิน 682,500 บาท
4.
เงินสมทบจากจังหวัดที่ได้รับการบริจาค จำนวน 823,538 บาท

สำหรับพิธีมอบเงินพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดินให้แก่หมู่บ้านเป้าหมาย จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกำหนดจัดพิธีมอบเงินพระราชทานฯ ในวันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2554 ณ ศาลาประชาคมเฉลิมพระเกียรติจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานในพิธีมอบเงินพระราชทานครั้งนี้

ส่วนกิจกรรมการดำเนินงานในหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อเตรียมรับกองทุนแม่ของแผ่นดิน เมื่อผู้แทนหมู่บ้าน/ชุมชนได้รับเงินกองทุนแม่ของแผ่นดินจากจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้แทนดังกล่าว อัญเชิญกองทุนแม่ฯกลับสู่หมู่บ้านของตน ซึ่งเมื่อถึงหมู่บ้านแล้ว ให้จัดพิธีการต้อนรับตามความเหมาะสม เช่น จัดปะรำพิธีต้อนรับ มีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตั้งอยู่ พร้อมพานทอง ประกอบพิธีการทางศาสนา ประธานกองทุนแม่ฯ กล่าวให้โอวาทและแนวทางกองทุน จัดการระดมทุนเพื่อสมทบกองทุนแม่ฯ พิธีการต้อนรับนี้จะกระทำในวันเดียวกันกับวันอัญเชิญกองทุนแม่ฯ หรือวันถัดไปก็ได้

กองทุนแม่ของแผ่นดินเป็นกองทุนที่สำนักงาน ป.ป.ส. อัญเชิญทรัพย์พระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาจัดตั้งเป็น “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายพลังแห่งความดีของคนในชุมชน เสริมสร้างกระบวนการในชุมชน สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง และสนับสนุนกิจกรรมแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนอย่างยั่งยืน

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ชนะขาด

ในการแข่งกีฬาเปตองภาคกลาง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีจังหวัดส่งทีมเข้าร่วมชิงชัย 25 จังหวัด ผลรอบชิงชนะเลิศ ประเภททีมหญิง แปดริ้วชนะขาดอ่างทอง 13 ต่อ 5 คะแนน ครองถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้สำเร็จเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์

จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด นำนักกีฬาเปตองตัวแทนจังหวัด จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ ทีมชาย 3 คน จากอำเภอบางคล้า ทีมหญิง 3 คน จากอำเภอสนามชัยเขต และทีมผสม 3 คน จากอำเภอสนามชัยเขต เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเปตองระดับภาค (ภาคกลาง) ในช่วงระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ บริเวณสนามรอบพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีจังหวัดในภาคกลางส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ จำนวน 25 จังหวัด

การแข่งขันกีฬาเปตองดังกล่าว เกิดขึ้นตามโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข งบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2554 วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ความรัก ความร่วมมือ ความสามัคคีระหว่างคนในชุมชน ป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติด และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ผลการแข่งขัน ชนะเลิศทีมชาย ได้แก่ จังหวัดราชบุรี ชนะเลิศทีมผสม ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี และชนะเลิศทีมหญิง ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ชนะขาดจังหวัดอ่างทองในรอบชิงชนะเลิศมาได้ด้วยคะแนน 13 ต่อ 5 คะแนน สำหรับทีมชนะเลิศแต่ละประเภทจะได้ครองถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นเวลา 1 ปี นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของจังหวัดฉะเชิงเทราที่ได้ครองถ้วยพระราชทานนี้

จัดทำคลังภูมิปัญญา OTOP


สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา จัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น "การจัดทำคลังภูมิปัญญา OTOP" ณ โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา นายวชิระ สัณหสกุล หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน เป็นวิทยากร เมื่อ 25 กรกฎาคม 2554

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์


จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 จำนวน 1,278,400 บาท ให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มช่องทางการตลาด สร้างรายได้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นที่แพร่หลาย โดยกำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการ ดังนี้

1. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดฉะเชิงเทรา
2.
จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP “งานมหกรรม OTOP และของดีเมืองแปดริ้ว”

3.
จัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดฉะเชิงเทรา


สำหรับ
กิจกรรมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดฉะเชิงเทรา กำหนดดำเนินการ จำนวน 2 รุ่น ณ โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา รุ่นที่ 1 ดำเนินการในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2554 กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP จากอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บางน้ำเปรี้ยว บางปะกง ท่าตะเกียบ และคลองเขื่อน จำนวน 105 คน รุ่นที่ 2 ดำเนินการในวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2554 กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP จากอำเภอบางคล้า บ้านโพธิ์ พนมสารคาม สนามชัยเขต แปลงยาวและราชสาส์น จำนวน 106 คน เนื้อหาสาระที่แลกเปลี่ยน ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ,นโยบายการขับเคลื่อน OTOP และการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมการคัดสรรสุดยอด OTOP ไทย ปี 2555 ส่วนกิจกรรมที่ 2 และ 3 จังหวัดจะดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

การใช้ตราสัญลักษณ์ OTOP


การใช้ตราสัญลักษณ์ OTOP ในการประชาสัมพันธ์สินค้าและการจัดงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้ตราสัญลักษณ์โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP : ONE TUMBON ONE PRODUCT )
คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) ได้พิจารณาแล้วพบว่าในปัจจุบันมีการนำตราสัญลักษณ์ OTOP ไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนทั่วไปในการจัดงานแสดงและจำหน่าย สินค้าในระดับต่าง ๆ ว่าสิ้นค้าที่จำหน่ายในงานดังกล่าว เป็นสินค้า OTOP ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้า OTOP ขาดความเชื่อมั่นใน OTOP สร้างความเข้าใจผิดแก่คุณภาพและมาตรฐานของสินค้า OTOP ส่งผลให้ยอดจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศลดลง ทั้งนี้ยังส่งผลกระทบกับผู้ผลิตสินค้า OTOP ที่ได้ลงทะเบียนและผ่านการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย อย่างถูกต้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรที่สนับสนุนการดำเนินงานโครงการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
จังหวัดจึงให้ส่วนราชการกำกับดูแล และควบคุมการใช้ตราสัญลักษณ์ OTOP ในการประชาสัมพันธ์สินค้าและการจัดงานต่าง ๆ ภายในพื้นที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้ตราสัญลักษณ์โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงบทลงโทษในการนำตราสัญลักษณ์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย